วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความรู้พื้นฐานทางการเมืองการปกครองทั่วไป


รัฐ (State)
ความหายของ รัฐ กับ ประเทศ และ ชาติ
        คำว่า รัฐ  เป็นภาษาอังกฤษว่า State หมายถึงชุมชนทางการเมือง  หรือความผูกพันทางการเมือง  (political unity)  โดยมีประชาชนอยู่ภายใต้ระบบการเมืองกับอธิปไตยเดียวกัน  และมีเอกราชในฐานะที่เป็นรัฐ
        ส่วนคำว่า ประเทศหรือ Country  และชาติหรือ Nation   มีความหมายแตกต่างจากคำว่ารัฐ  ดังนี้
       คำว่า ประเทศ  มุ่งเน้นที่จะกล่าวถึงดินแดนหรืออาณาเขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเดียวกันเท่านั้น โดยไม่จำเป็นว่าประเทศนั้น จะต้องมีอธิปไตยเฉกเช่นรัฐแต่อย่างใด
        คำว่า ชาติ   มีความหมายลึกซึ้งกว่ารัฐ   เพราะมุ่งหมายใช้กับประชาชนหรือสังคมมากกว่าจะใช้กับดินแดนดังประเทศ   และยังหมายถึง  ความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม  เช่น   เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา กับประสบการณ์ร่วมกันในทางประวัติศาสตร์  หรือ วิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองความหมายของรัฐ
      Roger Benjamin และ Raymond Duvall เสนอว่า ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่  ๔ แนวคิด  ดังต่อต่อไปนี้
1) รัฐในฐานะที่เป็นรัฐบาล (The State as Government) หมายความถึง กลุ่มบุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจในสังคมการเมือง
2) รัฐในฐานะที่เป็นระบบราชการ  (The State as Public Bureaucracy)   หรือเครื่องมือทางการบริหารที่เป็นปึกแผ่น และเป็นระเบียบทางกฎหมายที่มีความเป็นสถาบัน
3) รัฐในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครอง (The State as Ruling Class)
4) รัฐในฐานะที่เป็นโครงสร้างทางอุดมการณ์ (The State as Normative Order)
ทฤษฎีกำเนิดของรัฐ  มีความคิดเรื่องกำเนิดของรัฐดังนี้
1.ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (Theory of the Divine Right)  เชื่อว่ารัฐมีกำเนิดจากพระเจ้า กล่าวคือ พระเจ้าเป็นผู้ประทานดินแดนสร้างมนุษย์ ให้อำนาจตั้งรัฐบาล มอบอำนาจอธิปไตยให้
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระเจ้า คือ ผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองทั้งหมดให้ทฤษฎีนี้ก่อให้เกิดผลสำคัญหลายประการ คือ
1) รัฐเกิดจากพระประสงค์ของพระเจ้า
2) มนุษย์มิได้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรัฐ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบของรัฐ
3) ผู้ปกครองรัฐได้อำนาจปกครองมาจากพระเจ้า ผู้ใดฝ่าฝืนอำนาจรัฐ ผู้นั้นฝ่าฝืนโองการพระเจ้า
4) ประชาชนในรัฐจะต้องเชื่อฟังอำนาจรัฐโดยเคร่งครัด
2.ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Theory of the Social Contract)   เป็นทฤษฎีที่คัดค้านต่อทฤษฎีเทวสิทธิ์ในข้อสำคัญหลายประการ  ทั้งนี้ ทฤษฎีใหม่นี้เป็นผลมาจากความคิดของ Thomas Hobbes (1588-1679), John Locke (1632-1704), Jean Jacques Rousseau (1712-1778) ทฤษฎีใหม่นี้มีสาระสำคัญดังนี้ 
1) รัฐเกิดจากมนุษย์ หรือมนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐต่างหาก
2) ในการสร้างรัฐ มนุษย์มารวมเข้าด้วยกันโดยมีเจตนาแน่นอน เสมือนทำสัญญาร่วมกันว่า จะผูกพันกัน เผชิญทุกข์เผชิญสุข  ร่วมกัน
3) การที่มนุษย์มาผูกพันร่วมกันเช่นนี้ ถือว่าเป็นการทำสัญญาประชาคมขึ้น รัฐและรัฐบาล จึงเกิดจากสัญญาของมนุษย์ ถ้ารัฐบาลปกครองไม่เป็นธรรม ก็ถือว่าผิดสัญญาประชาคม รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะคู่สัญญา
4) รัฐบาลจะต้องกระทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่ง รุสโซ เรียกว่า General Will โดยเฉพาะในข้อที่ว่า เจตนารมณ์ของประชาชนย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลจะละเมิดมิได้
3. ทฤษฎีพลกำลัง (Theory of Force) ซึ่งเชื่อว่ารัฐเกิดขึ้นจากการยึดครองและการใช้กำลังบังคับ ทฤษฎีนี้เองที่นำไปสู่ความเชื่อในเรื่อง ชาตินิยม และความคิดที่ว่า รัฐคืออำนาจ ซึ่งอยู่เหนือศีลธรรมทั้งปวง
4. ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Theory of Evolution)  ของอริสโตเติล  ทฤษฎีนี้มีลักษณะเป็นจริงมากกว่าทฤษฎีก่อน ๆ โดยที่มีสาระ   สำคัญว่า รัฐเกิดขึ้นจากวิวัฒนาการใ ทางการเมืองของมนุษย์ เมื่อเริ่มต้นมนุษย์รวมกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ มีความผูกพันทางสายโลหิต มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ดังที่เราเรียกกลุ่มเล็กๆ นี้ว่า เป็นวงศาคณาญาติกัน ต่อมาก็คลี่คลายขยายตัวรวมเอากลุ่มชนซึ่งอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน มีหัวหน้าร่วมกัน มีศาสนาหรือลัทธิความเชื่อถืออันเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกัน สังคมประเภทนี้คงเรียกว่าเป็นสังคมร่วมเผ่าพันธุ์ ซึ่งย่อมกว้างขวางกว่าสังคมประเภทวงศาคณาญาติ ต่อมาสังคมเผ่าพันธุ์ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นนครใหญ่ เช่น นครรัฐกรีกในสมัยโบราณ และในที่สุดหลายรัฐหรือนครรัฐก็รวมเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิ มีการปกครองที่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จวบจนถึง รัฐ ชาติ ประเทศ ในปัจจุบัน
องค์ประกอบของรัฐ
     อนุสัญญามอนเตวิเดโอ ว่าด้วย  สิทธิและหน้าที่ของรัฐ  (The Montevideo Convention on the Rights and Duties     of States)  ค.ศ. 1933  มาตรา 1 (Article 1)  ได้อธิบายองค์ประกอบของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในทางกำหมายระหว่างประเทศว่า
รัฐประกอบด้วย
1.  ประชากร  (Population)   รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชาชนอาศัยอยู่อย่างถาวร
2.  ดินแดน   (Territory)       รัฐทุกรัฐจะต้องมีอาณาเขตพื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศอันแน่นอนและมั่นคง
3. รัฐบาล    (Government)    หมายถึง  หน่วยงานที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ  มิอิสระจากการควบคุมของรัฐอื่น ๆ
4.  อำนาจอธิปไตย (Sovereignty)  หมายถึง  อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทำให้รัฐสามารถดำเนินการปกครองภายใน และภายนอกประเทศ
วิวัฒนาการของรัฐกับการปกครอง
   จำแนกลักษณะออกได้ดังต่อไปนี้
1. นครรัฐ  ( city – state)  เป็นเมืองขนาดเล็ก ๆ   เช่น  นครรัฐกรีก เป็นต้น
2.  รัฐศักดินา ( feudal  state) ป็นการปกครองในระบบศักดินา  ในดครงสร้างแบบพีระมิด  ได้แก่  พระมหากษัตริย์  ขุนนางลำดับต่าง ๆ และข้าทาส  เป็นต้น
3.  รัฐชาติ ( nation  state)  เป็นการปกครองที่มีวิวัฒนาการในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่  15  ดังนี้
                                        3.1. ระบบพระมหากษัตริย์  เรียกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 
3.2. ระบบประชาธิปไตย  สมัยแห่งเหตุผล  ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เกิดขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 
                                        3.3. ระบบเผด็จการ  เกิดขึ้นขณะที่ระบบประชาธิปไตยมีความล้มเหลว เกิดความแตกแยกทางความคิดและสถานการณ์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  เป็นต้น
รูปแบบของรัฐ
                 รูปของรัฐที่ปรากฏอยู่นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกออกได้ 2 ประเภท   คือ
1. รัฐเดี่ยว (Unitary State) คือ รัฐที่มีศูนย์กลางในทางการเมืองและการปกครองรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นรัฐซึ่งมีเอกภาพไม่ได้แยกออกจากกัน มีการใช้อำนาจสูงสุดทั้งภายในและภายนอกโดยองค์กรเดียวกันทั่วดินแดนของรัฐ อำนาจสูงสุดในที่นี้ ก็คือ อำนาจอธิปไตย (อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ) ในรัฐเดี่ยว บุคคลทุกคนในประเทศจะอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของอำนาจแห่งเดียวกันนี้ ทุกคนจะอยู่ในระบอบการปกครองเดียวกัน และอยู่ใต้บทบัญญัติของกฎหมายอย่างเดียวกัน
ตัวอย่างรัฐเดี่ยวมีในทุกทวีป เช่น ไทย ฯลฯ  รัฐเดี่ยวนั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน และติดต่อกันไป ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย  เป็นต้น
2. รัฐรวม คือ รัฐต่างๆ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไป ซึ่งได้เข้ามารวมกันภายใต้รัฐบาลเดียวกัน หรือ ประมุขเดียวกัน อาจด้วยความสมัครใจของทุกรัฐเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยที่แต่ละรัฐต่างก็ยังคงมีสภาพเป็นรัฐอยู่อย่างเดิม เพียงแต่การใช้อำนาจอธิปไตยได้ถูกจำกัดลงไปบ้าง มากบ้างน้อยบ้างตามแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนด หรือตามแต่ข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ทั้งนี้ เพราะว่าได้นำเอาอำนาจนี้บางส่วนมาให้รัฐบาล หรือ ประมุข เป็นผู้ใช้ ซึ่งแต่ละรัฐนั้นอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดเดียวกัน โดยที่รัฐรวมในรูปแบบอื่น เช่น สมาพันธรัฐ นั้น ส่วนมากก็ได้กลายเป็นอดีตกันไปหมดแล้ว ยกเว้นกรณี สหพันธรัฐ เท่านั้น ประเทศที่เป็นรัฐรวมหลายรัฐที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ล้วนอยู่ในรูปแบบของ สหรัฐ หรือ สหพันธรัฐ ทั้งสิ้น
                      ลักษณะสำคัญของรูปแบบรัฐบาลตามแบบ สหพันธรัฐ (Federalism)  คือ การแบ่งแยกอำนาจ (Division of Power)  ระหว่างรัฐบาลกลาง (Central Government) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) โดยที่องค์ประกอบของแต่ละหน่วยที่    มารวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐ ต้องมีขอบเขตอาณาบริเวณที่ชัดเจน และทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นต่างมีอำนาจโดยตรงจากรัฐธรรมนูญของตนเอง และเป็นอำนาจที่ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน อีกทั้งการสร้างสมดุลระหว่างอำนาจระหว่างท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น มลรัฐจึงมีอำนาจที่จะสามารถควบคุม ดูแลประชาชนภายในมลรัฐของตน แต่หลักการสำคัญ คือ อำนาจนั้นต้องไม่ขัดกับความต้องการ และสวัสดิภาพของชาติโดยส่วนรวมอำนาจ โดยที่หน้าที่ซึ่งแต่ละมลรัฐมีภายในรัฐของตนได้ ก็อย่างเช่น การศึกษา การสาธารณสุข กฎหมายการแต่งงาน การหย่าร้าง การเก็บภาษีท้องถิ่น การควบคุม และดำเนินการเลือกตั้ง ดังนั้น แม้ว่ารัฐสองรัฐจะอยู่ติดกันแต่อาจมีกฎหมายในเรื่องเดียวกันต่างกันได้ 
                    การมีรัฐบาลรูปแบบสหพันธรัฐก็เพื่อจัดสรรอำนาจให้คนกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศที่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ และดำรงไว้ซึ่งแบบแผนความเชื่อ และวิถีชีวิตที่ตนต้องการโดยที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อสวัสดิภาพ และความมั่นคงของชาติ โดยลักษณะที่สำคัญของสหพันธรัฐ ได้แก่
1) มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร (written constitution) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เนื่องจากทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นต่างต้องการหลักประกันที่มั่นคงจากรัฐธรรมนูญว่าสิทธิอำนาจของตนจะไม่ถูกลบล้าง
2) สถาบันนิติบัญญัติในระบบสหพันธรัฐโดยทั่วไปจะประกอบด้วยสองสภา สภาหนึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ส่วนอีกสภาหนึ่งทำหน้าที่แทนประชาชนในมลรัฐ หรือรัฐบาลท้องถิ่น
3) รัฐบาลท้องถิ่นมีสิทธิที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข (amendment) รัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลาง
4) ระบบสหพันธรัฐคำนึงถึงศักดิ์ และสิทธิที่เท่าเทียมกันของรัฐสมาชิก โดยไม่ให้ความสำคัญกับขนาด หรือจำนวนประชากรของรัฐ เช่น วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกามีจำนวนเท่ากัน คือ รัฐละ 2 คน เป็นต้น
5) ระบบสหพันธรัฐมีรูปแบบรัฐบาลแบบกระจายอำนาจ (decentralized) ออกไปตามที่ต่างๆ และการรวมศูนย์อำนาจไม่อาจทำได้ นอกจากต้องล้มล้างโครงสร้าง และเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
                    ตัวอย่างประเทศที่ปกครองแบบสหพันธรัฐ  เช่น   สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน เป็นต้น
ระบอบการปกครอง
     ระบอบการปกครอง (Regime of Government) หมายถึง แนวความคิดรวบยอด หรือ ลัทธิทางการเมืองที่นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองรัฐ การวางระบบการเมือง การกำหนดสิทธิเสรีภาพราษฎร ฯลฯ ระบอบการปกครองของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ระบอบใหญ่ๆ คือ
1 ระบอบประชาธิปไตย
คำว่า Democracy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Demos แปลว่า พลเมือง / ประชาชน และ Kratos แปลว่า การปกครอง / รัฐบาล / อำนาจปกครอง จากรากศัพท์ดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตย มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่า ประชาชนเป็นใหญ่ กล่าวคือ เป็นการปกครองที่อำนาจสูงสุดของรัฐบาลเป็นของประชาชน หรือเป็นการปกครองโดยประชาชน หรือหมายถึงการปกครองที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน
     ในประเทศไทย คำว่า ประชาธิปไตย นี้ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) คือ ผู้ที่บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา จนในที่สุด ก็เป็นที่แพร่หลายทั่วไป
      คำว่าประชาธิปไตย  จำแนกความหมายได้เป็น 3 แนวทาง  คือ
                  1. ความหมายที่เป็นอุดมการณ์ ทางการเมือง คำว่า ประชาธิปไตยในความหมายแรกนี้ก็จะหมายถึง อุดมการณ์ทางการเมือง คือ ลักษณะที่ถือว่าอำนาจสูงสุดของรัฐเป็นของประชาชน
2. ความหมายที่เป็น รูปแบบ การปกครอง หรือ ระบอบ การปกครองรูปแบบหนึ่ง คำว่าประชาธิปไตย จะเป็นลักษณะการกำหนดระบอบ หรือ กรอบการปกครองรูปแบบหนึ่งที่มีวิธีการที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือ อำนาจสูงสุดของรัฐ
3. ความหมายที่เป็น วิถีชีวิตของประชาชนในประเทศ หรือในรัฐนั้นๆ คำว่า ประชาธิปไตย จะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งมีความเข้าใจ และเคยชินกับการดำเนินชีวิตในลักษณะดังกล่าว ตลอดจนถึงการมี สำนึกพลเมือง อย่างเช่น การเป็นผู้มีเหตุผลการยอมรับศักดิ์ศรีของบุคคล การตัดสินกระทำการใดๆ โดยอาศัยเสียงส่วนใหญ่ การไม่นิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหา การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นต้น
หลักการสำคัญ หรือ หลักเกณฑ์มูลฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยสรุปแล้ว อาจเห็นได้ว่า จะมีหลักการสำคัญๆ อยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ
1.หลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน (popular sovereignty) หรือ อำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่ประชาชน นั่นเอง ดังนั้น ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงมีสิทธิตั้งรัฐบาลและล้มรัฐบาลได้
2. หลักสิทธิและเสรีภาพต่างๆ (government of law, not of men) ประชาชนได้รับหลักประกันว่า รัฐบาลจะไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพ หรือ กระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. หลักความสูงสุดของกฎหมาย ซึ่งเน้นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน โดยให้ความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างทัดเทียมกัน (equal protection under law) โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ (discrimination)
4. หลักการเสียงข้างมาก (majority rule) แม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่ในยึดมั่นเสียงข้างมาก แต่ก็จะต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย โดยให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายข้างน้อย
ระบอบเผด็จการ
ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ (Dictatorship) หรือ อำนาจนิยม เป็นระบอบที่ดำรงอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ระบอบที่มีการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ให้อำนาจอยู่ในมือคนเพียงคนเดียว หรือ กลุ่มคนเพียงไม่กี่คน รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใด ระบอบเผด็จการ มักจะมีหลักการพื้นฐานสำคัญๆ อย่างเช่นว่า
1) การปกครองระบอบนี้ จะเป็นระบอบแห่งการผูกขาดอำนาจทางการเมือง
2) ในระบอบการปกครองเหล่านี้ เสรีภาพต่างๆ ทางการเมืองมีน้อยหรือไม่มีเลย
3) ฝ่ายค้านถูกยุบเลิกหรือถูกจำกัดจนไม่มีความหมายอะไรเลย
4) ประการอื่นๆ อย่างเช่น การที่ใช้ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวเข้ามาแทนที่ระบบพรรคการเมืองหลายพรรค หรือ บางครั้งอาจไม่มีพรรคการเมืองได้เลย / การที่ระบบการเลือกตั้งที่มีอยู่เป็นเรื่องของความต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า ผู้อยู่ใต้ปกครองได้รับรอง และยอมรับอำนาจของผู้ปกครองแล้ว หาใช่ เป็นการให้ผู้อยู่ใต้ปกครองเลือกเฟ้นตัวผู้ปกครองแต่อย่างใด เป็นต้น
ระบบรัฐบาล
ระบบรัฐบาล (System of Government) คือ การจัดรูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ขององค์กรหลักทางการเมือง ที่เรียกว่า รัฐบาลในความหมายกว้าง อำนาจหน้าที่ในที่นี้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ทางการเมืองด้วยระบบรัฐบาลที่สำคัญ มีอยู่ด้วยกันใน 3 รูปแบบใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
1.ระบบรัฐสภา (Parliamentary System)
ในบรรดาระบบรัฐบาลทั้งหลาย ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา (นายกรัฐมนตรี) เป็นระบบที่พัฒนามายาวนานที่สุด และเป็นระบบที่นิยมแพร่หลายในประเทศประชาธิปไตยมากที่สุดในขณะนี้ ระบบดังกล่าว เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยที่ ลักษณะสำคัญของระบบรัฐสภา เช่น
1) ไม่ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างเคร่งครัด
2) ประมุขของประเทศเป็นคนละคนกับหัวหน้ารัฐบาล
3) ประมุขของประเทศไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง
4) สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐบาลมาจากความไว้วางใจของสภา
5) สภามีอำนาจควบคุมการทำงานของรัฐบาล
6) รัฐบาลเสนอให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้
โดยที่มีประเทศซึ่งใช้ระบบรัฐสภา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ
2 ระบบประธานาธิบดี (Presidential System)
                       ระบบรัฐสภาที่กำลังพัฒนาอยู่ในหลายประเทศนั้น สหรัฐอเมริกาก็ได้มีการให้กำเนิดระบบรัฐบาลแบบใหม่ คือ แบบประธานาธิบดีขึ้น โดยที่ ลักษณะสำคัญของระบบประธานาธิบดี เช่นว่า
1) ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจค่อนข้างเคร่งครัด
2) ประมุขของประเทศเป็นคนเดียวกับหัวหน้ารัฐบาล
3) ประมุขของประเทศต้องรับผิดชอบทางการเมือง
4) สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยเช่นกัน
5) สภาไม่มีอำนาจควบคุมการทำงานของรัฐบาล
6) ไม่มี การยุบสภา
โดยมีประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล ฯลฯ
3.ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi-Presidential-Parliamentary System)
                    ระบบดังกล่าว เกิดในประเทศฝรั่งเศส ราวๆ ค.ศ. 1957-1958 เนื่องด้วยเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างหนัก ทำให้นายพลชาร์ลส์ เดอโกล์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเห็นว่า ทั้งระบบรัฐสภา และระบบประธานาธิบดี   มีข้อเด่น และข้อด้อย จึงได้นำเอาเอาลักษณะเด่นของทั้งสองระบบมาผนวกและผสมผสานกันเพื่อใช้กับฝรั่งเศส          อันนำไปสู่ระบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ในที่สุด
 โดยที่ ลักษณะสำคัญของระบบ กึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา เช่น
1) มีประมุขซึ่งมาจาก การเลือกตั้ง เรียกว่า ประธานาธิบดี
2) ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มิใช่ หัวหน้ารัฐบาล หัวหน้ารัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีแต่งตั้ง ประธานาธิบดีอาจแต่งตั้งผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี และอาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องมีการลงนามรับสนอง
3) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างๆ การทำงานของคณะรัฐมนตรีเป็นไปเหมือนกับรัฐบาลในระบบรัฐสภา
4) คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบายในการปกครองประเทศ และต้องรับผิดชอบต่อสภา เช่น อาจถูกตั้งกระทู้ได้ หรือ สภาอาจเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะก็ได้
5) ประธานาธิบดียุบสภาผู้แทนราษฎรได้ สาระข้อนี้คล้ายกับในระบบรัฐสภา
6) ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้นกว่าในระบบรัฐสภาโดยทั่วไป เช่น เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจพิเศษ หรือ มาตรการที่จำเป็นในสถานการณ์สำคัญได้ จนดูเหมือนประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดี
7) จำกัดอำนาจหรือบทบาทของรัฐสภาในการออกกฎหมายอย่างมาก เช่น ออกกฎหมายได้บางประเภทตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น นอกจากนั้นให้ฝ่ายบริหารออกเป็นกฎหมายอื่นได้ ในบางกรณีรัฐบาลอาจขออำนาจจากรัฐสภา เพื่อออกข้อกำหนดได้เองภายในระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย8) ไม่ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างในระบบประธานาธิบดี หากแต่ยอมให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเกี่ยวข้องกันได้ เช่น รัฐสภามีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลได้ รัฐบาลต้องบริหารโดยความไว้วางใจของรัฐสภา แต่สมาชิกรัฐสภาจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันไม่ได้ เฉพาะประการนี้เหมือนกันกับในระบบประธานาธิบดี